วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลูกเสือไทยกำเนิดขึ้นมาแล้ว 99 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 นับเป็นประเทศที่ 3 ของโลก

หลายคนเคยสงสัยหรือมีข้อกังขาเกี่ยวกับวิชาเรียนที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย ที่เรียกวิชานั้นว่า 'ลูกเสือ' โดยบางคนเริ่มเรียนวิชาลูกเสือตั้งแต่ชั้นป.1 – ม.3 นับระยะเวลาได้ก็ร่วม 9 ปี หากถามว่า 9 ปีที่ผ่านพ้น การเรียนวิชาลูกเสือแล้วสร้างอะไรให้กับผู้เรียนได้บ้าง ให้ลองนึกกันเล่นๆ อาจจะไม่ใช่วิชาที่สลักสำคัญมากนัก เพราะไม่มีเกรดแต่หากไม่เรียนก็ไม่สามารถจบได้

บางคนอาจจะจำภาพที่ต้องมานั่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ที่ดูพะรุงพะรัง มีผ้าพันคอ หมวก เข็มขัด ฯลฯ รวมถึงเครื่องหมายต่างๆ ที่ต้องติดโชว์ในเครื่องแบบ ถ้าหากวันไหนแต่งตัวพลาดไปอาจจะถูกลงโทษในวิชาเรียนก็เป็นไปได้

บางคนอาจจะจำการผูกเงื่อนพิรอด เงื่อนขัดสมาธิ เงื่อนบ่วงสายธนู เงื่อนตะกรุดเบ็ด เงื่อนกากบาท กิจกรรมรอบกองไฟในยาม 'เข้าค่าย' การเดินทางไกล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้ร้องเพลง ฝึกการแสดง รวมทั้งฝึกร้องเพลงนี้...

“ลูกเสือเขาไม่จับมือขวา ยื่นซ้ายมาจับมือกันมั่น มือขวาใช้เคารพกัน (ซ้ำ) ยื่นซ้ายออกมาพลันจับมือจับมือ จับมือนั้นหมายถึงมิตร เหมือนญาติสนิทควรคิดยึดถือ ยิ้มด้วยเมื่อการจับมือ (ซ้ำ) เพราะพวกเราคือลูกเสือด้วยกัน” อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าลูกเสือเขาไม่จับมือขวา...

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนสมาชิกลูกเสือไม่น้อยหน้ากว่าชาติไหนๆ เพราะเปิดหลักสูตรเรียนแกมบังคับให้เด็กนักเรียนชายทุกคนต้องเป็นลูกเสือโดยไม่มีทางเลือกอื่น อาจจะมีบางโรงเรียนที่ให้เด็กผู้ชายเรียนวิชายุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนน้อย เพราะฉะนั้นแล้วในแง่ปริมาณประเทศไทยกินขาด

ในขณะที่ลูกเสือโลกกำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ตามไปดูกันว่าในวาระครบรอบ 99 ปีของลูกเสือไทย มีความก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหน หลักสูตรที่เคยร่ำเรียนกันตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน อย่างไร แล้วในมุมของผู้เรียน สิ่งที่ได้มานั้นมีมากกว่าการร้องเพลง หรือแค่ความรู้สึกที่ได้แต่งตัวเครื่องแบบลูกเสือ

ทำไมเด็กไทยต้องเรียนลูกเสือ?

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมจึงต้องเรียนวิชาลูกเสือ และวิชานี้มีความสำคัญมากมายขนาดไหน จึงต้องถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

สมมาต สังขพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาลูกเสือและบุคลากร สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ บอกเล่าถึงหัวใจสำคัญของการเรียนลูกเสือ ก่อนจะไขข้อสงสัยที่เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจดูแคลนการเรียนลูกเสือ ทำนองว่า 'จะเรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิต' ทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่าในยุคที่ค่านิยมของผู้คนเปลี่ยนไป หลักสูตรลูกเสือมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบ้าง

“ย้อนไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้ การเรียนลูกเสือจะมีหลักสูตรการสอนที่ทำให้ผู้เรียนนำไปใช้ได้จริง มีทั้งการสอนปีนต้นไม้ การใช้กิ่งไม้จุดไฟเมื่ออยู่ในป่า การทำกับข้าว มีการตั้งแคมป์ เข้าค่าย เดินป่า แล้วก็มีการกำหนดให้ลูกเสือสามัญทำหน้าที่เป็นลูกเสือจราจร ให้ความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่คนใช้รถใช้ถนน แล้วก็มีการบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น ในอดีต หลายๆ โรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็จะให้ลูกเสือ เนตรนารี ไปบำเพ็ญประโยชน์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง คอยช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ คอยช่วยขนสัมภาระ ขนข้าวขนของขึ้นรถไฟ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนที่มาใช้บริการ”

มาถึงวันนี้ภาพดังกล่าวแทบไม่มีให้เห็นแล้ว หลายโรงเรียนละเลยกับการเรียนการสอนวิชาลูกเสือ ด้วยเหตุผลที่ต่างมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนเรียนเก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ติด ครั้นพอมาถึงชั่วโมงวิชาเรียนลูกเสือ แทนที่จะให้เด็กได้ฝึกฝนการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ก็กลับเอาเวลาไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลนี้เด็กจำนวนไม่น้อยจึงเห็นว่าการเรียนลูกเสือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรในชีวิต ซึ่งแตกต่างกันในต่างประเทศโดยสิ้นเชิง

“ในสวีเดน และสหรัฐอเมริกา ถ้าใครไปสมัครงานแล้วมีเครื่องหมายวิชาพิเศษหลายๆ แบบ ในกิจกรรมลูกเสือ คนเหล่านี้จะเป็นตัวเลือกแรกๆ เลยครับที่จะได้รับการตอบรับเข้าทำงาน เพราะอย่างน้อยๆ มันก็แสดงให้เห็นว่า เขามีความกระตือรือร้นที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น”

เพราะ 'เครื่องหมายวิชาพิเศษ' ที่คนไทยมักเรียกง่ายๆ ว่า 'ปีก' หรือตราสัญลักษณ์รูปต่างๆ ที่ติดบนเสื้อนั้น กว่าจะได้มา ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่ต้องแลกด้วยการทุ่มเททำกิจกรรมจนได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ว่าตราสัญลักษณ์ที่ประดับนั้น จะมีความหมายว่าได้ผ่านการตั้งแคมป์ เดินป่า หรือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น

ดังนั้น ทุกวันนี้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจึงรื้อฟื้นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งมีการทำข้อตกลงร่วมกันกับหลายองค์กร เพื่อให้ลูกเสือที่สนใจกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่า ร่วมกันปลูกป่าชายเลน หรือร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในการทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสอดส่องดูแลเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อสังคม

ซึ่ง ผอ. สมมาต ก็ไม่ลืมย้ำว่า ลูกเสือคนไหนสนใจอยากทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ก็สามารถติดต่อได้โดยตรงที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หรือแจ้งความประสงค์ไปที่ครูผู้สอนวิชาลูกเสือของแต่ละโรงเรียนก็ได้เช่นกัน แม้แต่ผู้ที่ศึกษาอยู่ในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ก็แจ้งความประสงค์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้เช่นกัน

“ทุกวันนี้ เราพยายามรื้อฟื้นจิตวิญญาณของความเป็นลูกเสือ ผ่านกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้บำเพ็ญประโยชน์เพราะไม่อยากให้เขาคร่ำเคร่งกับการเรียนด้านวิชาการอย่างเดียว โดยไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่คำนึงถึงการทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง”

เรียนลูกเสือแล้วได้อะไร

หลังจากผ่านประสบการณ์การเรียนวิชาลูกเสือภาคบังคับในห้องเรียนแล้ว น้อยคนที่ยังมีความคิดที่อยากจะเป็นลูกเสือต่อไป แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าวิชาเรียนลูกเสือนี้ให้อะไรได้มากกว่า

สุชานุช พันธุ์เจริญศิลป์ ลูกเสือวิสามัญ ชมรมลูกเสือเยาวชนไทยนานาชาติ เป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งคลุกคลีกับวงการลูกเสือมากว่าครึ่งทศวรรษ อีกทั้งยังมีโอกาสไปร่วมงานใหญ่ของวงการลูกเสือโลก อย่างการชุมนุมลูกเสือนานาชาติมาแล้ว

ดูจากชื่อเสียงเรียงนามของเธอ ก็ทำให้เราสงสัยว่า ลูกเสือนี่มีผู้หญิงด้วยหรือ?

“ลูกเสือหญิงก็มีในระดับที่โตขึ้นมาหรือระดับวิสามัญ ซึ่งการเรียนลูกเสือนั้นจะทำให้เราได้ฝึกตัวเอง ได้ทำงานที่ไม่มีโอกาสได้ทำ มันมีทั้งในด้านวินัย ความเป็นผู้นำ และการอยู่ร่วมกับคนอื่น

“คือเด็กสมัยนี้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นค่อนข้างน้อย อาจจะไปติดเกม ติดคอมพ์ เสียมากกว่า ซึ่งในการเรียนลูกเสือนั้นมันทำให้เราได้เจอคน ได้รู้จักปรับตัว”

จริงอยู่ ที่การเรียนการสอนลูกเสือในบ้านเรานั้น เป็นเสมือนไม้เบื่อไม้เมากับเด็กๆ คำที่ว่ามันช่างแห้งแล้งและไร้จินตนาการสำหรับเด็กบางกลุ่ม แต่สำหรับสุชานุชแล้ว วิชาลูกเสือจะสนุกหรือไม่นั้นมันต้องแล้วแต่คนสอน

“การเรียนการสอนลูกเสือในบ้านเราอาจจะมีความน่าเบื่ออยู่บ้างในบางที เพราะว่าคุณครูที่สอน อาจจะไม่ได้มีความรู้เรื่องลูกเสือ แต่เป็นอาจารย์วิชาสามัญที่จำใจต้องมาสอน ซึ่งลูกเสือในเมืองนอกนั้น จะเป็นสิ่งที่เราเลือกเรียนเอง และคนที่มาสอนก็จะเป็นคนที่รู้เรื่องลูกเสืออย่างจริงจัง มันไม่ได้บังคับในหลักสูตร แต่เป็นเหมือนชมรมที่ถ้านักเรียนสนใจก็สามารถเลือกได้

“ซึ่งคนที่จะทำให้วิชาลูกเสือเป็นเรื่องที่สนุกขึ้นมาได้ ก็คือผู้ใหญ่นั่นเอง ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องเหนื่อยกว่าปกติ มีการจัดการเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก อย่างตอนนี้ เราเองก็มีอายุมาถึงช่วงที่ต้องเป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้น้องๆ แล้ว”

และนั่นก็ทำให้เราสงสัยเพิ่มขึ้นมาอีกข้อว่าแท้จริงแล้วคนเราจะเป็นลูกเสือได้ถึงอายุเท่าไหร่กันแน่

“การเป็นลูกเสือเป็นได้ตลอดชีวิต ในตอนนี้คนอายุ 70-80 ปี ที่เป็นลูกเสืออยู่ก็ยังมี แต่อาจจะไม่ได้เป็นคนที่ลงมาสอน แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของการเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง คือวิชาลูกเสือไม่ได้มีแต่การเข้าแถว หรือการสั่งซ้ายหันขวาหัน กิจกรรมลูกเสือที่ดีนั้น จะต้องเป็นกิจกรรมที่ต้องให้เด็กได้คิด และได้แสดงออกและต้องไม่เป็นการบังคับกัน”

เมื่อเด็กไทยเป็นลูกเสือ (ภาคบังคับ)

รู้กันอยู่แล้วว่าเด็กไทยส่วนมากถูกบังคับให้เรียนลูกเสือโดยต้องมี 1 ชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์ หลายคนเคยผ่านประสบการณ์การเรียนนั้นมาแล้ว เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนสองคนนี้ที่อยากบรรยายถึงความรู้สึกของการเรียนวิชาลูกเสือของพวกเขา...

“โอ๊ย! เบื่อมากค่ะ วันไหนที่มีเรียนลูกเสือ ใส่เครื่องแบบแล้วร้อนมาก ทั้งหมวก ทั้งผ้าพันคอ แต่จะใส่ไม่ครบก็ไม่ได้ ต้องใส่ให้ครบ ไม่งั้นก็โดนทำโทษ”

พิณสุดา ชุดทะเล นักเรียนโรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เธอบอกว่าอากาศที่ทั้งร้อนอบอ้าว เหงื่อไคลไหลย้อย แต่ยังต้องสวมเครื่องแบบเต็มพิกัดนี่แหละ เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้เธอเบื่อหน่ายวิชาลูกเสือ

แต่ถึงแม้จะเบื่อเรื่องเครื่องแบบ พิณสุดา ก็ไม่ลืมที่จะบอกว่า ใจจริงก็สนุกกับการเรียนวิชาลูกเสือ เพราะไม่ต้องนั่งเรียนในห้อง ได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ได้ฝึกฝนความมีระเบียบวินัย เพราะว่า

“อาจารย์โหดมากค่ะ แต่ก็ดีนะ ได้ฝึกฝนตัวเองให้มีระเบียบขึ้น”

ไม่ต่างกันกับ มานพ จันทร์หมื่นไวย นักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ที่ยืนยันว่า บางเวลาอาจเบื่อหน่ายการเรียนลูกเสือ แต่อย่างไรก็รู้สึกสนุกและชื่นชอบมากกว่า เพราะมีกิจกรรมสนุกๆ ที่ในห้องเรียนไม่มีให้ทำ

“ สนุกครับ ชอบนะ แม้บางทีจะเบื่อๆ บ้าง แต่ชอบมากกว่า ชอบเวลาที่มีทหารมาสอน เพราะทำให้เราได้ฝึกความมีระเบียบวินัย แล้วก็ชอบที่มีการให้บำเพ็ญประโยชน์ ได้เก็บขยะรอบๆ โรงเรียน”

น้อยนิดมหาศาลกับการเป็น 'ลูกเสือ'

ในบ้านเราวิชาลูกเสือเมื่อก่อนเคยเป็นอย่างไร ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ขณะที่ลูกเสือในประเทศอื่น ต่างก้าวล้ำในความเป็นลูกเสือและให้ความสำคัญกับมัน โดยเฉพาะการปรับตัวของเด็กๆ และหลักสูตรที่จะนำลูกเสือไปสู่ความร่วมสมัยของสังคมและเทคโนโลยีของเด็กๆ ที่ก้าวไกลไปมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ ที่เกี่ยวพันกับบรรดาเด็กๆ ที่เรียนลูกเสือโดยตรง

แม้แต่ในโลกภาพยนตร์ยังดึงเอาความเป็นลูกเสือ มาใช้ในการดำเนินเรื่องเพื่อให้เกิดเรื่องราว เช่น ‘อัพ ปู่ซ่าบ้าพลัง’ (UP) ที่ตัวละครเด็กรูปร่างอ้วนกลมนามว่า 'รัสเซล' ซึ่งเป็นลูกเสือวัย 9 ขวบ ต้องใช้ความพยายามในการที่จะได้ตราสัญลักษณ์ที่ให้ความช่วยเหลือคนชรา จึงจะทำให้เขากลายเป็นลูกเสือที่ครบสมบูรณ์แบบและได้ขึ้นรับตราสัญลักษณ์ครบตามกำหนด และความพยายามของลูกเสือ นักผจญภัยคนนี้ก็เกิดเป็นเรื่องราวให้น่าติดตามในภาพยนตร์เรื่อง 'อัพ'

ปกติแล้วเหล่าลูกเสือทั่วโลก ที่สามารถก่อตั้งเต็นท์ได้, ผูกเงื่อนได้ และเดินทางไกลประสบความสำเร็จจะมีตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสำเร็จดังกล่าวติดประทับอยู่บริเวณแขนเสื้อ ลูกเสืออเมริกาก้าวล้ำกว่าชาติไหนๆ เพราะจะเพิ่มอีกหนึ่งความสำเร็จเข้าไป เป็นความสามารถในด้าน 'วิดีโอเกม' ลูกเสืออเมริกาคนไหนที่ต้องการจะได้ที่ล็อกเข็มขัด หรืออาร์มตราเชิดชูเกียรติความสามารถด้านวิดีโอเกม จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดเรตติ้งเกม สามารถแบ่งเวลาในการเล่นเกมกับการทำประโยชน์ในชีวิตด้านอื่นๆ ได้ นอกจากนั้นยังต้องมีความเข้าใจในการเล่นเกมและสามารถอธิบายให้ความรู้กับผู้ปกครองได้

……..

การเรียนรู้ทุกอย่างย่อมเกิดประโยชน์ หากแต่ผู้ที่เรียนรู้นั้น นำสิ่งนั้นมาเพื่อใช้ประโยชน์หรือไม่ ไม่ต่างกับวิชาลูกเสือ ที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นวิชาน่าเบื่อ ต้องเข้าแถว ร้องเพลง แต่งตัวพะรุงพะรัง หากแต่ในรายละเอียดบางอย่างมีอะไร ซ่อนอยู่ และถ้าเรานำสิ่งนั้นไปใช้ประโยชน์ก็จะไม่สูญเปล่าแน่ๆ


เว็บไซต์ :http:// www.KamolOnline.net